Header Ads

ปี 58 ยุคของ TV DIGITAL


กสทช กับ การบริหารอุตสาหกรรมทีวีไทย

อะไรคือ “ทีวีดิจิทัล”

ทีวีดิจิทัล (digital television) คือระบบการแพร่สัญญาณคลื่นโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (“terrestrial” ในที่นี้หมายความว่าไม่ได้ยิงสัญญาณออกนอกโลกเหมือนดาวเทียม) เหมือนกับระบบของฟรีทีวีในปัจจุบัน แต่เปลี่ยนวิธีการเข้ารหัสสัญญาณเป็นแบบดิจิทัลแทนระบบแอนะล็อกแต่เดิม
ข้อดีของการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลคือ ให้ภาพที่คมชัดกว่าเดิม ใช้ช่วงคลื่นน้อยลงกว่าเดิมมาก และมีความสามารถอื่นๆ เข้ามาอำนวยความสะดวกแก่ผู้รับชมทีวี เช่น มีผังรายการแสดงบนหน้าจอได้เลย เป็นต้น
ปัจจุบันอุตสาหกรรมทีวีทั่วโลกเข้าสู่ระบบดิจิทัลกันแทบทั้งหมดแล้ว (ประเทศไทยถือว่าช้าไปราว 10 ปีเพราะไม่สามารถตั้ง กสช. ได้ ภารกิจนี้จึงตกมาอยู่กับ กสทช. ในฝั่งคณะกรรมการ กสท. แทน) กระบวนการผลิตรายการทีวีทั้งหมดตั้งแต่กล้องวิดีโอไปจนถึงการตัดต่อ เปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิทัลกันหมดแล้ว เรียกได้ว่าในฝั่งการผลิตและการออกอากาศนั้น เทคโนโลยีพร้อมหมดแล้ว เหลือแค่ฝั่งของนโยบาย และฝั่งของผู้ชมโทรทัศน์เท่านั้น (เครื่องรับโทรทัศน์จำเป็นต้องรองรับสัญญาณระบบดิจิทัลด้วย ซึ่งแก้ด้วยการซื้อกล่องแปลงสัญญาณดิจิทัลมาต่อเข้ากับทีวีเดิมได้)
ในระยะยาวแล้ว ทีวีระบบแอนะล็อกจะถูกเปลี่ยนมาเป็นระบบดิจิทัลทั้งหมด ด้วยเหตุผลว่ารับชมได้เหมือนกัน แต่ใช้ช่วงกว้างของสัญญาณ (bandwidth) น้อยกว่ากันมาก ดังนั้นในต่างประเทศจึงทยอยเปลี่ยนระบบทีวีเป็นดิจิทัล และเมื่อพร้อมแล้วก็หยุดแพร่สัญญาณระบบแอนะล็อกอย่างถาวร (digital switchover) หลังจากนั้นจึงนำคลื่นเดิมที่ใช้กับทีวีระบบแอนะล็อกไปจัดสรรใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และตอบสนองความต้องการใช้คลื่นความถี่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สภาพการแข่งขันของฟรีทีวีของประเทศไทย (ที่มา – กานต์ ยืนยง SIU)

ผลกระทบของ “ทีวีดิจิทัล” ต่ออุตสาหกรรมทีวีของไทย

ต้องยอมรับว่า “ฟรีทีวี” (ในที่นี้คือ analog terrestrial television) มีสภาพการแข่งขันแบบกึ่งผูกขาดโดยรัฐมายาวนานหลายสิบปี ในจำนวนฟรีทีวีทั้ง 6 ช่อง แบ่งได้เป็น
  • ช่องของหน่วยงานรัฐ 3 ช่อง ได้แก่ ช่อง 5 (กองทัพบก) ช่อง 9 (อสมท.) และช่อง 11 (กรมประชาสัมพันธ์)
  • ช่องที่หน่วยงานรัฐให้สัมปทานแก่เอกชน ได้แก่ ช่อง 3 (สัมปทานจาก อสมท. ให้กลุ่มบริษัท BEC) และช่อง 7 (กองทัพบกให้สัมปทานแก่กลุ่มบริษัท BBTV)
  • ทีวีสาธารณะของหน่วยงานอิสระของรัฐ ได้แก่ Thai PBS
ช่องชนิดผู้ดำเนินการระยะเวลาสัมปทาน
ช่อง 3เอกชนได้สัมปทานจากรัฐ (อสมท)บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (ในเครือ BEC)2513-2563
ช่อง 5รัฐดำเนินการเองบริษัท อาร์ทีเอ เทเลวิชั่น จำกัด (กองทัพบก)-
ช่อง 7เอกชนได้สัมปทานจากรัฐ (กองทัพบก)บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด2510-2566
ช่อง 9รัฐวิสาหกิจบริษัท อสมท จำกัด-
NBTรัฐดำเนินการเองกรมประชาสัมพันธ์-
Thai PBSทีวีสาธารณะองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย-
ทีวีเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศไทย มีอัตราการเข้าถึงประชากร 98% (ตัวเลขอ้างอิงจากรายงานของ กสทช.) มากกว่าสื่อชนิดอื่นๆ อย่างวิทยุและหนังสือพิมพ์มาก เม็ดเงินเชิงพาณิชย์จำนวนมหาศาลจึงไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมทีวี และผู้ที่ได้รับความมั่งคั่งย่อมเป็นหน่วยงานต่างๆ ที่มีอำนาจควบคุมสถานีโทรทัศน์ของไทยทั้ง 5 ช่องนั่นเอง (ไม่นับรวม Thai PBS ที่อยู่ได้จากเงินภาษี ไม่รับโฆษณาจากภาคเอกชน)
กลุ่มทุนที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากภาวะกึ่งผูกขาดของอุตสาหกรรมทีวีไทยย่อมเป็น BEC และ BBTV ที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับหน่วยงานผู้ให้สัมปทาน และพยายามกีดกันคู่แข่งรายอื่นๆ โดยใช้กลไกเรื่องสัมปทานเป็นเครื่องมือ และในเมื่อทีวีระบบแอนะล็อกจำเป็นต้องใช้ช่วงคลื่นที่กว้างมากในการแพร่สัญญาณ ในทางเทคนิคจึงมีจำนวนสถานีได้ไม่มากนักเทียบกับความถี่ที่ประเทศไทยมีใช้งานสำหรับกิจการโทรทัศน์
สายสัมพันธ์ผู้บริหาร-กลุ่มทุนช่อง 7 (ที่มา – กานต์ ยืนยง SIU)
การเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์เองย่อมสร้างอำนาจต่อรองกับโฆษณาได้มากกว่าผู้ผลิตรายการทีวีที่ไม่ได้เป็นเจ้าของสถานีมาก ในอดีตที่ผ่านมา เราจึงเห็นกลุ่มทุนใหญ่ของประเทศหลายกลุ่มพยายามสอดแทรกตัวเข้ามาตั้งสถานีทีวีอยู่เป็นระยะ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือสถานี ITV ที่กลุ่มทุนหลายกลุ่มอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ เครือเนชั่น และเครือชินคอร์ป หมายมั่นปั้นมือว่าจะกลายเป็นสถานีทีวีภาคเอกชนรายใหม่ของไทย แต่ก็เจอปัญหามากมายทั้งประเด็นการเมือง ธุรกิจ และสัญญาสัมปทาน จนต้องถอนตัวออกไปทั้งหมด
เมื่อเทคโนโลยีเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมเริ่มพัฒนา จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่กลุ่มทุนสื่อรายใหญ่แทบทุกรายของประเทศไทย หันมาทำสถานีทีวีของตัวเอง เช่น ทรู เนชั่น เวิร์คพอยต์ แกรมมี่ อาร์เอส เมเจอร์ กันตนา ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ฯลฯ รวมไปถึงกลุ่มทุนรายเล็กๆ อีกมากที่เข้ามาร่วมชิงเค้กก้อนนี้ แม้ว่าในช่วงแรกๆ เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมจะยังมีฐานผู้ชมสู้ฟรีทีวีไม่ได้ก็ตาม
การมาถึงของเทคโนโลยีทีวีดิจิทัล มีบทบาทสำคัญต่อการสลายสภาพการผูกขาดของอุตสาหกรรมทีวีในประเทศไทยอย่างแน่นอน เพราะข้อจำกัดเรื่องจำนวนช่องรายการ 6 ช่องที่อยู่กับประเทศไทยมานานจะหมดไป มติของคณะกรรมการ กสทช. ตัดสินแล้วว่าบนระบบทีวีแบบดิจิทัล จะมีช่องรายการทั้งหมด 48 ช่อง ซึ่งถือว่าเพิ่มมาจากเดิมถึง 8 เท่า หรือ 700% จากเดิม มีพื้นที่ให้กลุ่มทุนรายอื่นๆ เข้ามาเปิดสถานีได้ในที่สุด
ดังนั้นในอนาคตอันใกล้ เราจะเห็นฟรีทีวีเดิมทั้ง 6 ช่องยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการดิจิทัลทีวีจาก กสทช. อย่างแน่นอน รวมไปถึงกลุ่มทุนสื่อรายใหญ่รายอื่นๆ ที่ย่อมไม่พลาดโอกาสทองนี้เช่นกัน

แยกส่วนช่องรายการ-สถานี-โครงข่ายการแพร่สัญญาณ

โครงสร้างการแข่งขันของอุตสาหกรรมฟรีทีวีในประเทศไทย นอกจากภาวะกึ่งผูกขาดโดยรัฐแล้ว ยังเป็นระบบการผูกขาดแนวดิ่ง (vertical integration) นั่นคือองค์กรที่ควบคุมสถานีทีวีแต่ละแห่งจะเป็นเจ้าของทุกอย่าง ตั้งแต่เสาส่งสัญญาณตามพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย อุปกรณ์ส่งสัญญาณแพร่ภาพ คลื่นความถี่ ช่องรายการ ไปจนถึงผลิตรายการด้วยตัวเอง (แล้วค่อยแบ่งเวลาออกอากาศบางส่วนให้กับเอกชนรายอื่นเช่าเวลาหาผลประโยชน์)
การผูกขาดแนวดิ่งนี้ทำให้ช่องทีวีต่างๆ แข่งขันกันที่ความครอบคลุมของสัญญาณแพร่ภาพ และกลายเป็นช่อง 7 ที่ได้ประโยชน์สูงสุดเพราะมีสัญญาณแพร่ภาพที่ครอบคลุมมากกว่า ส่งผลให้ทะยานขึ้นเป็นสถานีที่มีคนดูเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ (และส่งผลบวกในแง่ของราคาโฆษณาที่แพงกว่า) แต่เมื่อการขยายพื้นที่แพร่ภาพเริ่มอิ่มตัว ทุกช่องเริ่มมีพื้นที่การแพร่สัญญาณภาพที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น ในช่วงหลังช่อง 3 จึงพยายามเจาะตลาดของช่อง 7 โดยอาศัยเนื้อหารายการที่ดึงดูดมาเป็นจุดขาย ในขณะที่ช่องของรัฐช่องอื่นๆ ไม่ได้เน้นผลประโยชน์เชิงพาณิชย์มากเท่ากับช่องของเอกชนทั้งสองราย
เปรียบเทียบโครงสร้างการแข่งขันในระบบแอนะล็อก-ดิจิทัล (ที่มา รายงาน กสทช.)
แต่ในยุคของทีวีดิจิทัล การผูกขาดแนวดิ่งจะหายไปในที่สุด โดยเจ้าของช่องรายการ อาจไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของโครงข่ายเสาแพร่ภาพสัญญาณก็ได้ และในทางกลับกัน อาจมีแต่บริษัทที่ให้บริการวางระบบเสาสัญญาณ (ซึ่งเป็นงานวิศวกรรม) เพียงอย่างเดียว ไม่เข้ามายุ่งกับการผลิตเนื้อหารายการเลยก็เป็นได้ กระบวนการแพร่ภาพจะใช้วิธีต่างฝ่ายต่างเช่าใช้บริการของอีกฝ่ายเติมเต็มซึ่งกันและกัน การลงทุนเริ่มแรกจึงน้อยลงมาก เปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายเล็กหน้าใหม่เข้ามาประกอบกิจการในตลาดได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมมากขึ้นตามมา
จากร่างประกาศของ กสทช. แบ่งระดับของใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ไว้ 3 ระดับ ดังนี้
  1. ใบอนุญาตให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ หมายถึง “โครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ในการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ และให้หมายความรวมถึง ที่ดิน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง เสา ระบบสาย สายอากาศ หรือท่อ”
  2. ใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ หมายถึง “การให้บริการระบบเชื่อมโยงของกลุ่มเครื่องส่งหรือถ่ายทอดสัญญาณเสียงหรือภาพที่ใช้ในการส่งข่าวสารสาธารณะหรือรายการจากสถานีไปยังเครื่องรับ ไม่ว่าจะโดยสื่อตัวนำที่เป็นสาย คลื่นความถี่ แสง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือสื่อตัวนำใด”
  3. ใบอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ หมายถึง “การประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์เพื่อให้บริการส่งข่าวสารสาธารณะหรือรายการไปยังเครื่องรับที่สามารถรับชมหรือรับฟังการให้บริการนนั้นๆ ได้ ไม่ว่าจะส่งโดยผ่านระบบคลื่นความถี่ ระบบสาย ระบบแสง ระบบแม่เหล็กไฟฟ้า หรือระบบอื่น ระบบใดระบบหนึ่งหรือหลายระบบรวมกัน”
ใบอนุญาตแต่ละระดับจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยใบอนุญาตระดับที่สอง สามารถให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกได้ด้วย และผู้ถือใบอนุญาตระดับที่สาม สามารถทำได้ทุกอย่างที่ใบอนุญาตระดับที่หนึ่งและสองทำได้ (กสทช. ออกแบบใบอนุญาตลักษณะนี้กับกิจการโทรคมนาคมด้วย โดยแบ่งเป็นสามระดับเช่นกัน)
ผู้ประกอบการโทรทัศน์จำเป็นต้องขอใบอนุญาตประเภทที่สาม แต่จะวางโครงข่ายเองหรือไม่ก็ได้ ซึ่งเราคาดว่าผู้ประกอบการฟรีทีวีทุกรายในปัจจุบันจะยังคงใช้บริการโครงข่ายเดิมของตัวเอง แต่บางราย (โดยเฉพาะหน่วยงานที่เป็นของรัฐ เช่น อสมท และ ช่อง 5) อาจแยกส่วนองค์กรมาให้บริการเฉพาะโครงข่ายแก่ผู้ประกอบการโทรทัศน์รายอื่นๆ ด้วยก็เป็นได้
ข้อมูลจากwww.siaminteligent.com

ไม่มีความคิดเห็น